พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ได้ระบุให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ประกอบกับ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา และมาตรฐานการอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติสนับสนุนทรัพยากร ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละแห่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.

การประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา โดยงานประกันคุณภาพการศึกษา ต้องทำหน้าที่เป็น "ออแกไนซ์".
มหาวิทยาลัยโดยงานประกันคุณภาพการศึกษาได้ดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยตามนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา.
ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะสร้างบัณฑิตให้เกิดการเรียนรู้และมีคุณภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างผลผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม นำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการประกันคุณภาพการศึกษาให้กับบุคลากรหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย หน่วยงานภายนอก และประชาชนโดยทั่วไป.
เพื่อให้การดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 หมวด 6 มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา 47-51 และสอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วย ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จึงเห็นสมควรกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติการประกันคุณภาพการศึกษาของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.
นโยบายข้อที่ 1 จัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานปกติ มุ่งสู่วัฒนธรรมคุณภาพ
นโยบายข้อที่ 2 พัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา พัฒนามาตรฐานตัวบ่งชี้ อย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่ความเป็นเลิศ คู่คุณธรรม
นโยบายข้อที่ 3 จัดให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา
นโยบายข้อที่ 4 สร้างและพัฒนาเครือข่ายการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
นโยบายข้อที่ 5 พัฒนา ควบคุม ติดตาม และประเมินผล ทุกระดับ และนำผลประเมินมาปรับปรุงเป็นรูปธรรมชัดเจน
นโยบายข้อที่ 6 พัฒนาระบบสารสนเทศ ฐานข้อมูลการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างครอบคลุมทุกองค์ประกอบและทุกระดับ
นโยบายข้อที่ 7 เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศและผลการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาต่อสาธารณชนภายในและภายนอก.